วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ผลของส่วนผสมต่อคุณสมบัติของไอศกรีม

                ไอศกรีมส่วนผสมหลักได้แก่ ไขมันหรือมันเนย ธาตุน้ำนมไม่รวมมันเนย สารให้ความหวาน สารให้ความคงตัว และอิมัลซิไฟเออร์ ส่วนผสมแต่ละชนิดมีผลต่อคุณสมบัติของไอศกรีมแตกต่างดังนี้

ไขมัน

                ไขมันหรือมันเนย มีผลทำให้อัตราการฟูตัวของไอศกรีมลดต่ำลง แต่ไม่มีผลในการทำให้จุดเยือกแข็งของไอศกรีมลดลง ไขมันนม (milk fat) เป็นตัวให้กลิ่นรสที่ดีแก่ไอศกรีม เนื่องจากในสภาพอิมัลชั่นของไอศกรีมไขมันกระจายตัว อยู่ในส่วนประกอบอื่น โดยหุ้มอยู่รอบฟองอากาศ ทำให้เกิดลักษณะเนื้อสัมผัสที่ดี และให้กลิ่นรสดีขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังเป็นตัวเสริมกลิ่นรสให้แก่กลิ่นรสที่เติมลงไปด้วย (Norman,1977)

ธาตุน้ำนมไม่รวมไขมันเนย (milk solid non fat,MSNF)

                ธาตุน้ำนมไม่รวมมันเนย (MSNF) นี้ ส่วนมากใช้ในรูปของนมผงขาดมันเนย (skim milk) MSNF ประกอบด้วยส่วนประกอบ 3 หลัก คือ โปรตีนร้อยละ 36.7 น้ำตาลนม (แลคโทส) ร้อยละ 55.5 และเกลือแร่ร้อยละ 7.8 โปรตีนใน MSNF ช่วยให้ไอศกรีมมีเนื้อเรียบเนียนช่วยป้องกันไม่ให้โครงร่างอ่อนเนื้อสัมผัสหยาบทำให้รูปร่างและเนื้อของไอศกรีมเพิ่มมากขึ้นส่วนน้ำตาลแลคโทสช่วยให้เกิดรสหวานและเกลือแร่ให้รสเค็ม นอกจากนี้ MSNF ที่เป็นส่วนผสมของไอศกรีมยังให้คุณค่าทางอาหารสูง ให้กลิ่นรสแก่ไอศกรีมได้มาก และเพิ่มความขันหนืดให้แก่ไอศกรีมเหลวควบคุมปริมาณ overrun ควบคุมขนาดเกล็ดน้ำแข็งในระหว่างการแช่แข็ง และช่วยยืดระยะเวลาในการละลายของไอศกรีม แต่MSNF มีผลทำให้จุดเยือกแข็งของไอศกรีมต่ำลง การเติม MSNF ที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดรสเค็มได้เนื่องจากใน MSNF มีเกลือแร่เป็นส่วนประกอบ และการใส่ MSNF ในปริมาณมากช่วยเพิ่มความเข้มข้นของแลคโทส ทำให้เกิดผลึกน้ำตาลแลคโทสได้ซึ่งมีผลทำให้ไอศกรีมมีเนื้อหยาบคล้ายทราย (sandy) นอกจากนี้ การเติม MSNF ในปริมาณสูงจะทำให้จุดเยือกแข็งของไอศกรีมลดต่ำลงได้ ทำให้เกิดผลึกน้ำแข็งขนาดใหญ่ในเนื้อไอศกรีม (Arbuckle,1986)

สารให้ความคงตัว (Stabilizer)

                สารให้ความคงตัวช่วยให้ลักษณะเนื้อแก่ไอศกรีม ทำให้เนื้อสัมผัสเรียบเนียนป้องกันการเกิดผลึกน้ำแข็งขนาดใหญ่ขณะเก็บรักษา ช่วยเพิ่มความหนืดให้แก่ไอศกรีม แต่ไม่มีผลต่อจุดเยือกแข็งของไอศกรีม ช่วยยืดระยะเวลาในการละลายของไอศกรีม ให้ความสามารถในการฟูตัวของไอศกรีมลดลง หน้าที่หลักของสารให้ความคงตัวในไอศกรีม คือป้องกันไม่ให้เกิดผลึกน้ำแข็งใหญ่ขณะเก็บรักษาภายใต้อุณหภูมิไม่คงที่ ซึ่งจะทำให้เนื้อสัมผัสของไอศกรีมหยาบ การใช้สารคงตัวมากเกินไปอาจมีผลให้ ไอศกรีมเหนียวแฉะ (soggy) มีเนื้อหยาบและหลอมละลายยาก (Norman,1977)

อิมัลซิไฟเออร์ (Emulsifier)

                อิมัลซิไฟเออร์ช่วยให้ไอศกรีมมีเนื้อสัมผัสเรียบเนียน ลดระยะเวลาในการฟูตัวของไอศกรีม ทำให้ส่วนผสมเกิดการรวมตัวเป็นเนื้อเดียวกัน ช่วยปรับปรุงคุณสมบัติในการฟูตัวของไอศกรีมทำให้ผลึกน้ำแข็งมีขนาดเล็กลง ช่วยให้ส่วนผสมละลายตัวดีขึ้น (Norman,1977)

สารให้ความหวาน


                น้ำตาลหรือสารให้ความหวานที่ใช้ในไอศกรีมให้ความหวานแก่ผลิตภัณฑ์และให้ปริมาณของแข็งทั้งหมดแก่ส่วนผสมเพิ่มขึ้น นอกจากนี้น้ำตาลมีผลต่อสมบัติต่างๆที่สำคัญของไอศกรีมด้วยน้ำตาล ช่วยเพิ่มความหนืดให้แก่ไอศกรีมเหลว ปรับปรุงลักษณะเนื้อสัมผัสของไอศกรีมให้ดีขึ้น ให้กลิ่นรสที่ดี ทำให้ไอศกรีมมีจุดเยือกแข็งต่ำลง ถ้าเพิ่มปริมาณน้ำตาลในส่วนผสมมากขึ้น จะได้ไอศกรีมที่มีเนื้อเรียบเนียนขึ้น แต่ถ้าปริมาณน้ำตาลสูงเกินไปอาจทำให้ไอศกรีมมีเนื้อแฉะ น้ำตาลในไอศกรีมมีประโยชน์ทั้งในด้านลักษณะเนื้อและเนื้อสัมผัส การละลายของผลิตภัณฑ์ และการแข็งตัวของส่วนผสมด้วย ถ้าไอศกรีมขาดน้ำตาลจะทำให้ไอศกรีมที่ได้มีเนื้อร่วน หยาบ และเป็นแผ่น (Arbuckle,1986)

อ้างอิง

ศรัญญา คูณศรี. ดารณี ภัทรพงศ์กุล.  การสกัดผงบุกและนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ไอศกรีม.
         วิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี. ปทุมธานี. : มหาวิทยาลัยรังสิต,  2540

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น