วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

บรรจุภัณฑ์และการกำหนดระดับราคา

                "บรรจุภัณฑ์" ถือเป็นปราการด่านแรกที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดการรับรู้ และเกิดความสนใจในสินค้า บรรจุภัณฑ์จึงเป็นสิ่งที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและเป็นเครื่องมือการตลาดชนิดหนึ่ง ผู้ประกอบการจึงไม่ควรมองข้ามในการพิถีพิถันเพื่อเลือกสรรบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมให้กับสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าอาหารที่มีลักษณะหลายๆอย่างคล้ายคลึงกันและสามารถใช้แทนกันได้ หากผู้ผลิตรายหนึ่งมีบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยให้เกิดความสะดวกต่อการใช้และสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้าได้มากกว่าก็ย่อมได้รับความสนใจมากกว่าบรรจุภัณฑ์แบบธรรมดา การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์อาหารต้องคำนึงสิ่งต่อไปนี้
  1. บรรจุภัณฑ์สามารถเก็บรักษาคุณภาพอาหารไว้ให้คงเดิมได้หรือไม่และนานเพียงใด
  2. บรรจุภัณฑ์นั้นปลอดภัยที่จะใช้งานหรือไม่
  3. บรรจุภัณฑ์มีความสะดวกต่อการใช้งานหรือไม่
  4. บรรจุภัณฑ์ทำให้สินค้าเมื่อวางบนชั้นแล้วได้เปรีนยกว่าคู่แข่งหรือไม่
  5. บรรจุภัณฑ์สวยงามดึงดูด และเชิญชวนให้ใช้หรือไม่
  6. บรรจุภัณฑ์สามารถสะท้อนคุณลักษณะเฉพาะของสินค้าได้หรือไม่
  7. บรรจุภัณฑ์นั้นสะท้อนตำแหน่งครองใจของสินค้าได้หรือไม่
  8. บรรจุภัณฑ์นั้นสามารถให้ข้อมูลที่สำคัญได้เพียงพอหรือไม่ เช่นส่วนประกอบอาหาร คุณค่าทางโภชนาการ น้ำหนัก วันหมดอายุ วิธีใช้
  9. บรรจุภัณฑ์นั้นสามารถทำกำไรได้มากขึ้นหรือไม่
  10. บรรจุภัณฑ์นั้นนำมาใช้ในการส่งเสริมการตลาดได้หรือไม่
  11. บรรจุภัณฑ์นั้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่
  12. บรรจุภัณฑ์บรรจุภัณฑ์นั้นมีประโยชน์อย่างอื่นหลังการรับประทานอาหารที่บรรจุหมดแล้วหรือไม่ เช่น แก้ว กระป๋องชนิดมีฝาเปิดปิดได้ที่มีลวดลายสวยงาม ของพลาสติกชนิดเปิดปิดได้ ขวดแก้วรูปทรงสวยงาม เป็นต้น

                การตั้งราคาสินค้าก็เป็นเทคนิคประการหนึ่งที่สำคัญด้านการตลาด การตั้งราคาไม่สำคัญว่าจะต้องสูงหรือต่ำ ขอเพียงเป็นราคาที่ลูกค้าพอใจและยินดีที่จะจ่าย การตัดสินใจตั้งราคาเป็นสิ่งสำคัญต่อความสำเร็จของธุรกิจ ผู้ประกอบการขนาดเล็กมักตั้งราคาโดยใช้ความรู้สึกส่วนตัวมาพิจารณา ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการตั้งราคา คือ สภาพการแข่งขันในตลาด ความต้องการของลูกค้า และต้นทุนของบริษัท ผู้ประกอบการต้องพิจารณาทั้ง 3 ส่วนพร้อมๆกัน และพึงระลึกไว้ว่าราคาจะต้องประกอบด้วยต้นทุนต่อหน่วยบวกด้วยกำไรต่อหน่วย นอกจากนี้ยังมีกลยุทธ์ในการตั้งราคาที่อาจนำมาใช้ได้กับสินค้าอาหาร ดังนี้
  1. การตั้งราคาเลขคี่ ส่วนใหญ่นิยมตั้งราคาที่ลงท้ายด้วยเลข 9 หรือเลข 5 หรือบางชนิดอาจตั้งราคาด้วยเลขคู่ เช่น 10 บาท 50 บาท
  2. การตั้งราคาอ้างอิง เป็นการตั้งราคาโดยเปรียบเทียบราคา ปกติของสินค้าในตลาด
  3. การตั้งราคาสินค้าขายรวมห่อหรือขายแยกกัน เพื่อกระตุ้นให้ซื้อมากขึ้น เช่น ขนมอบกรอบแบบบรรจุแพ็ค 12 ห่อ กับชนิดขายแยก
  4. การตั้งราคาในแต่ละช่วงเวลา เช่น น้ำมันปาล์ม ราคามักจะขึ้นลงตามปริมาณผลผลิต ราคาสินค้าในช่วงเทศกาลปีใหม่มักสูง กว่าช่วงปกติ
  5. การตั้งราคาเพื่อให้เกิดการทดลองบริโภค มักตั้งราคาต่ำกว่าปกติ นิยมใช้ในช่วงออกผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือตั้งราคาสำหรับสมาชิกหรือส่วนลดพิเศษ เพื่อกระตุ้นการซื้อ
  6. การตั้งราคาเพื่อสร้างภาพลักษณ์ มักจะตั้งราคาสูงเพื่อให้ลูกค้าพอใจที่จะจ่ายในราคาสูงเพื่อสร้างภาพลักษณ์ แต่สินค้านั้นจะต้องมีการใช้งบประมาณมากในการสร้างภาพลักษณ์ในช่วงเวลาหนึ่งจนเป็นที่ยอมรับ
  7. การตั้งราคาเดียว กรณีที่ผลิตสินค้าหลายรสชาติ หรือมีลักษณะต่างๆกัน แต่กำหนดราคาเดียวกันหมด การตั้งราคาวิธีนี้ต้องนำต้นทุนต่อหน่วยทุกสินค้ามาเฉลี่ยแล้วจึงบวกกำไรต่อหน่วยเข้าไป
  8. การตั้งราคาที่บรรจุภัณฑ์เพิ่มมูลค่า สินค้าชนิดเดียวกันแต่บรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่มีลักษณะต่างกัน สามารถกำหนดราคาให้ต่างกันได้ เป็นทางเลือกแก่ผู้บริโภค เช่น คุกกี้ในกล่องกระดาษ กับคุกกี้ในกล่องโลหะสวยงาม
  9. การตั้งราคาเปลี่ยนแปลงตามมาตรฐาน กรณีที่บริษัทมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นจะมีการปรับมาตรฐาน เพื่อให้สินค้าดูมีคุณค่ามากขึ้นและแตกต่างจากเดิม
  10. การตั้งราคาคงที่ เพื่อความสะดวกในระบบบัญชี แต่ใช้วิธีเพิ่มปริมาณบรรจุ หรือซื้อ 1 แถม 1 เพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกว่ามีการลดราคาให้

อ้างอิง

ณรงค์ รู้จำ.  เริ่มต้นธุรกิจ...ไอศกรีมโฮมเมด=Ice-Cream homemade.  กรุงเทพฯ :
         ทีอาร์เอ็นบุ๊ค,2550

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น